หน้าแรก » เครื่องคชาภรณ์

เครื่องคชาภรณ์

  • เครื่่งคชาภรณ์ที่สำคัญ

  • ผ้าปกกระพอง  ทำด้วยผ้าเยียรบับลายทองพื้นแดง  เย็บเป็นแผ่นรูปทรงคล้ายกลีบบัว  ชายขอบผ้าทำเป็นริ้วลายทองพื้นเขียวอยู่ด้านใน  พื้นแดงอยู่ด้านนอก ๒ ริ้ว  ขลิบริมด้วยดิ้นเลื่อม  ขนาดความกว้างของผ้าตรงรูปฐานกลีบบัว  ยาว ๘๒ ซ.ม.  ความยาวจากฐานกลีบบัวจรดปลายปลายแหลมของกลีบบัวยาว ๕๕ ซ.ม.  ส่วนฐานของกลีบบัวเชื่อมต่อกับตาข่ายแก้วกุดั่น
  • ตาข่ายแก้วกุดั่นหรืออุบะแก้วกุดั่น  ทำด้วยลูกปักแก้ว (เพชรรัสเซีย) เจียระไน  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๒ ม.ม. จำนวน ๘๑๐ เม็ด เจาะรูตรงกลาง  ร้อยด้วยสายทองคำถัก  แบบที่เรียกว่า  สร้อยหกเสา  เริ่มต้นทำเป็นตาข่ายโดยการร้อยลูกปัดแก้ว จำนวน ๙ ลูก  แล้วผูกเป็นจุดเชื่อมตาข่าย  ร้อยลูกปัดแก้วอีก ๙ ลูกผูกติดกับฐานกลีบบัวผ้าปกกระพองเป็นช่วง ๆ รวม ๙ ช่วงเรียงไปตลอดความยาวของฐานกลีบบัว  แถว ที่ ๒ เริ่มต้นจากกึ่งกลางของช่วงแรกซึ่งเป็นจุดเชื่อมร้อยลูกปัด ๙ ลูก แล้วผูกไว้ทำต่อไปเช่นนี้ให้เป็นตาข่ายรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว  หรือที่เรียกกันว่า  อุบะหน้าช้าง  มีความยาวด้านละ ๑๐๐ ซ.ม. เท่ากันทั้งสองด้าน  ระยะจากปลายยอดสามเหลี่ยมถึงฐานกลีบบัว  กว้าง ๘๗ ซ.ม.  จุดที่สายทองคำถักร้อยลูกปัดแก้วประสานตัดกันเป็นตาข่าย  ทุกจุดประดับด้วยดอกลายประจำยามทองคำประดับพลอยสีเขียว  สีแดง  และสีขาว  ขนาดกว้างด้านละ ๕ ซ.ม.  ห้อยด้วยพวงอุบะทองคำประดับพลอยสีแดง  และสีขาว  ยาว ๑๐ ซ.ม. มีจำนวนรวม ๔๗ จุด  และยังได้เพิ่มอุบะที่ตาข่ายแก้วเจียระไนตรงจุดที่ต่อกับผ้าปกกระพองอีก ๒ แถว

 

  •  พู่หู  ทำด้วยขนหางจามรีสีขาวบริสุทธิ์  เป็นเครื่องประดับทรงพู่ใช้ห้อยจากผ้าปกกระพอง  ลงมาอยู่ส่วนหน้าของใบหูทั้งสองข้าง  ในการประกอบเป็นตัวพู่  หรือลูกพู่  เบื้องต้นต้องทำแกนด้วยผ้าขาวเป็นรูปดอกบัวตูม  มีเชือกหุ้มผ้าตาดทองต่อจากขั้วแกน  เพื่อใช้ผูกกับผ้าปกกระพอง  ต่อจากนั้นเย็บขนจามรีประกอบเข้ากับแกนที่เตรียมไว้  จำนวน ๒ พู่  พู่หรือลูกพู่นี้เมื่อเย็บขนจามรี เสร็จแล้วจะมีรูปทรงคล้ายดอกบัว  มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ส่วนที่กว้างที่สุด ๒๖ ซ.ม.

        

  • ผ้าคลุมพู่  ทำด้วยผ้าเยียรบับรูปดาวหกแฉก ใช้คลุมบนขั้วพู่จามรี  โดยเจาะรูตรงกลางเพื่อใช้เป็นที่ร้อยเชือก  ขอบผ้าริมนอกขลิบด้วยผ้าตาดทอง  ริมในขลิบด้วยผ้าสีแดง
  • จงกลพู่  เป็นส่วนที่ใช้ครอบบนขั้วพู่ทับอยู่บนผ้าคลุมพู่  ทำด้วยทองคำบุดุนลงยาสีเขียว  และสีแดง  ทำเป็นลายดอกบัวคว่ำ  ปลายกลีบดอกบานออกเล็กน้อย  ลักษณะรูปทรงคล้ายกรวย  ตัวจงกลพู่ยาว ๑๒ ซ.ม. ปากจงกลพู่เส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง ๘.๐๒ ซ.ม.  โคนจงกลพู่เจาะรูเป็นที่ร้อยเชือกจากขั้วพู่  เส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง ๑.๐๘ ซ.ม.  ความยาวของพู่หูจากปลายจงกลถึงปลายแหลมของตัวพู่ประมาณ ๕๒ ซ.ม.  เส้นรอบวงของพู่ประมาณ ๗๖ ซ.ม.

  • เสมาคชาภรณ์  เป็นจี้หรือเครื่องประดับรูปใบเสมาสำหรับร้อยสายสร้อยผูกคอ  ขนาดกว้าง ๑๑.๐๕ ซ.ม. ยาว ๑๔.๐๕ ซ.ม.  ทำด้วยทองคำลงยา  ด้านหน้าบุดุนเป็นรูปพระราชลัญจกร  พระมหามงกุฎอุณาโลม  ยอดพระมหามงกุฎเปล่งรัศมี  ด้านข้างพระมหามงกุฎกระนาบด้วยลายช่อดอกลอยใบเทศ  มีลายประดับรับส่วนล่าง  กรอบใบเสมาบุดุนเป็นลายรูปพญานาค ๒ ตัว ใช้หางเกี้ยวกัน  ส่วนบนของใบเสมาตีปลอก บุ ดุนลายลวดลายลงยา  มีลูกปัดทองทรงกลมกลวงสำหรับสอดร้อยด้วยสายสร้อยทองคำ  ลูกปัดทั้งสองมีขนาดกว้าง ๒ ซ.ม. ยาว ๒ ซ.ม.
  • สร้อยคอ  หรือสายสร้อยผูกคอทำด้วยทองคำ  เป็นรูปห่วงเกลียวมีเส้นผ่าศูนย์กลาง  สายเกลียวประมาณ ๑.๑ ซ.ม.  ความยาวของสายสร้อย ๒๘๕ ซ.ม.

ตาบ หรือ ตาบทิศ  เป็นเครื่องประดับติดอยู่กับพานหน้า และพานหลัง  ทำด้วยทองคำบุดุนฉลุลายดอกประจำยามประดับพลอยสีเขียว  สีแดง  และสีขาว  รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส  กว้างยาวด้านละ ๗ ซ.ม.  สำหรับประดับพานหน้า  ส่วนที่อยู่ใกล้กับไหล่ ๒ ข้าง และประดับพานหลัง  ส่วนที่อยู่ใกล้ตะโพก ๒ ด้าน  รวม ๔ ดอก

  • วลัยงา หรือ สนับงา  เป็นเครื่องประดับงา  ใช้สวมงาทั้ง ๒ ข้าง ๆ ละ ๓ วง  รวม ๖ วง  ทำด้วยทองคำบุดุนประดับพลอยสีเขียว  สีแดง  และสีขาว
  •  สำอาง  เป็นห่วงคล้องอยู่ส่วนท้ายช้างใต้โคนหาง  เพื่อยึดกับพานหลัง  ทำด้วยทองเหลืองชุบทอง มีลายประดับทำด้วยวิธีพิมพ์แกะลายบริเวณที่เป็นรูปขอ  ก่อนนำไปหล่อ  ขนาดสำอาง กว้าง ๓๓ ซ.ม.  ยาว ๓๖ ซ.ม.
  • ทามคอ  พานหน้า  พานหลัง  โยงพานหลัง  และสายรัดประคน  ทำด้วยผ้าถักแบบสายพานหุ้มด้วยผ้าตาดทอง  มีห่วงโลหะชุบทองเป็นตัวเกี่ยวประสานผูกด้วยเชือกหุ้มผ้าตาดทองทุกเส้น

 

  •  พนาศ  เป็นผ้าคลุมหลังช้าง  รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ทำด้วยผ้าเยียรบับ  ท้องผ้า  เป็นลายทองพื้นเหลือง  ตามสีประจำวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ล้อมด้วยผ้าตาดทองพื้นแดงด้านหลังผ้าเยียรบับต้องใช้ผ้าซับกาวรีดทับเพื่อไม่ให้ริมผ้าหลุด  ชายขอบผ้าชั้นนอกทั้ง ๔ ด้านขลิบด้วยดิ้นทอง ๒ ชั้น  และปิดทับรอยต่อของผ้าตาดเป็นขอบชั้นในส่วนชายผ้า ๒ ด้านที่ห้อยลงมาอยู่ข้างท้องช้างนั้น  ตรงกลางท้องผ้าติดคันชีพ  ทำเป็นกระเป๋าผ้ากำมะหยี่สีน้ำเงินเข้ม  ขนาดกว้าง ๒๙ ซ.ม.  ยาว ๓๖  ซ.ม.  ขลิบริมด้วยดิ้นทองทั้ง ๔ ด้าน  ตรงกลางปักลายพระราชลัญจกรพระมหามงกุฎอุณาโลมด้วยไหมเหลือง  ที่คันชีพทั้ง ๒ ข้าง  ติดเม็ดดุมทำด้วยแก้วเจียระไนสายคล้องดุมทำด้วยทองคำ  ขอบชายผ้าต่อจากคันชีพลงไปมีผ้าระบายซ้อน ๓ ชั้น  แต่ละชั้นขลิบด้วยดิ้นทองตกแต่งด้วยตุ้งติ้งประกอบชายผ้าทั้ง ๓ ชั้น

                            อ้างอิง  

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=90145       

 

ใส่ความเห็น