ศาสนบุคคลในศาสนาคริสต์

ศาสนบุคคลในศาสนาคริสต์
นักบุญหรือเซนต์
นักบุญ หรือ เซนต์ คือบุคคลที่ขณะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ ได้ดำเนินชีวิต ที่แสดงออกถึงความเชื่อในพระศาสนา อย่างสมบูรณ์ ด้วยการปฏิบัติคุณงามความดีต่างๆ และเมื่อท่านจากโลกนี้ไปแล้ว พระศาสนจักรก็ได้ยกย่อง สดุดีคุณงามความดีต่างๆ ที่ท่านเหล่านั้นได้กระทำไว้ โดยถือว่าเป็นชีวิตคริสตชนตัวอย่าง ที่เราสามารถเลียนแบบได้ และถือว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ที่เราสามารถเคารพ นับถือ และสวดวิงวอนขอพรจากพระเจ้า ผ่านท่านได้ เพราะเชื่อว่าท่านมีชีวิตนิรันดร อยู่ร่วมกับพระคริสตเจ้า ในสรวงสวรรค์แล้วนั่นเอง
ประวัติความเป็นมาของ
คำว่า “นักบุญ” ใน 6 ศตวรรษแรกๆ ของพระศาสนจักรนั้น เซนต์คือผู้ที่ได้พลีชีพเพื่อยืนยันความเชื่อของตน สาเหตุก็เพราะว่าในสมัยนั้น คริสต์ศาสนายังถูกเบียดเบียน และข่มแหงอยู่มาก บรรดาคริสตชนหลายต่อหลายคน ได้ถูกจับไปประหารชีวิต เพราะเป็นคริสตชนหรือไม่ยอมทิ้งศาสนา คริสตชนที่พลีชีพ เพื่อประกาศความเชื่ออย่างเด็ดเดี่ยวเช่นนี้ เรียกว่า “มรณสักขี หรือ มาร์ตีร์” (Christian martyrs) ถือว่าเป็นชีวิตคริสตชนตัวอย่าง เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคริสตชนในยุคแรกๆ นั้น ต่างก็ยกย่องสดุดีให้ความเคารพ นับถือ และศรัทธาต่อท่านเหล่านั้นเป็นอันมาก จึงได้มีพิธีกรรมต่างๆ เพื่อแสดงถึงความเคารพ และระลึกถึงท่าน เช่น การเคารพหลุมฝังศพ การสวดวิงวอน และการประกอบพิธี บนหลุมฝังศพของท่าน เป็นต้น
ต่อมาเมื่อคริสต์ศาสนาได้รับการยอมรับ และกลายเป็นศาสนาประจำชาติโรมัน การเบียดเบียนจึงลดลง คราวนี้คนที่จะพลีชีพเพื่อศาสนา ก็มีจำนวนลดน้อยตามไปด้วย ดังนั้น การเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือเซนต์ไม่จำเป็นว่าต้องตายเพื่อศาสนาเสมอไป แต่ชีวิตที่แสดงออกถึงความเชื่อ และดำเนินไปตามพระบัญญัติ ด้วยการปฏิบัติคุณงามความดีต่างๆ ก็น่าจะได้รับการยกย่อง ว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือเซนต์ได้ด้วย
ตั้งแต่นั้นมา การเคารพนับถือผู้ศักดิ์สิทธิ์ จึงเริ่มขยับขยายออกไปยังคริสตชนอื่นๆ ที่เจริญชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์ ยึดมั่นในพระธรรมคำสอน และปฏิบัติคุณงามความดีอย่างเคร่งครัด บางคนเด่นในการบำเพ็ญพรตบำเพ็ญตบะ บางคนเด่นในการเผยแผ่พระศาสนา บางคนเด่นในด้านการมีความรอบรู้ ในพระสัจธรรม หรือเป็นนักปราชญ์ และบางคนก็เด่นในด้านมีเมตตาจิต อุทิศตนรับใช้เพื่อนมนุษย์ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็ได้รับยกย่องว่าเป็น “ธรรมสักขี” (Confessor)
วิวัฒนาการการแต่งตั้งเซนต์
ในช่วงศตวรรษที่ 6 – 10 ยังไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอน เกี่ยวกับการแต่งตั้งใครคนใดคนหนึ่ง เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือเซนต์วิธีที่ใช้ตัดสินก็คือ การดูจากจำนวนคน ที่เคารพนับถือและศรัทธา จำนวนคนที่ไปเยี่ยมหลุมฝังศพ และได้รับความช่วยเหลืออย่างอัศจรรย์ ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการตัดสินแบบนี้ ก็เป็นเหตุให้เกิดความแคลงใจ ถึงความศักดิ์สิทธิ์ ของคนนั้นคนนี้อยู่เสมอๆ ดังนั้น พระศาสนจักรจึงได้กำหนดกฎเกณฑ์ ให้ชัดเจนขึ้นว่า บุคคลใดควรอยู่ในข่าย ได้รับการยกย่องเทิดทูนอย่างแท้จริง โดยในระยะแรกๆ นั้น ขึ้นอยู่กับพระสันตะปาปา หรือประมุขคริสตชนท้องถิ่นนั้นๆ แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 12 การอนุมัติเรื่องนี้ ต้องขึ้นกับพระสันตะปาปาแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้เพื่อจะเป็นหลักประกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งเพื่อเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีแก่บุคคลผู้นั้นนั่นเอง
จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1642 สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 8 จึงได้ออกสมณกฤษฎีกา ว่าด้วยกฎเกณฑ์และวิธี การดำเนินการแต่งตั้งเซนต์ขึ้น ต่อมาในสมัยของพระสันตะปาปาปิอุสที่ 10 ก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม จนกระทั่งล่าสุด ในปี ค.ศ. 1930 พระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 จึงได้ทรงโปรดให้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบันได้มีสมณกระทรวง ว่าด้วยการประกาศแต่งตั้งนักบุญโดยเฉพาะ ซึ่งก็แยกส่วนออกมาจาก สมณกระทรวงพิธีกรรมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 ทั้งนี้เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบดูแล เกี่ยวกับคำร้องและพิธีการ ดำเนินการประกาศแต่งตั้งเซนต์ทั่วพระศาสนจักรสากล โดยตรง
ขั้นตอนการแต่งตั้งเซนต์
ขั้นตอนการประกาศแต่งตั้งเป็นนักบุญนั้น ละเอียดซับซ้อน ต้องกระทำอย่างรอบคอบถี่ถ้วน เพราะจะผิดพลาดไม่ได้ แบ่งออกได้เป็น 2 ขั้นตอนดังนี้ คือ
1. “การตั้งเป็นบุญราศี” (beatification)
2. “การตั้งเป็นเซนต์” (canonization)
การตั้งเป็นบุญราศี (beatification)
พิธีแต่งตั้งบุญราศีที่ มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์
การตั้งเป็นบุญราศี (ภาษาอังกฤษ: Beatification) คือ บุคคลหนึ่งที่ประชาชนยอมรับว่าเป็นคริสตชนตัวอย่างที่ได้สิ้นชีวิตลง แล้วมีผู้ได้รับผลจากการสวดวิงวอนขอความช่วยเหลือจากท่าน พระสังฆราชในท้องถิ่น ก็จะดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงต่างๆ เช่น ประวัติของผู้ตายและอัศจรรย์ต่างๆ ที่มีผู้ได้รับความช่วยเหลือ จากนั้นจึงรวบรวมเรื่องส่งไปยังสภาว่าด้วยการสถาปนานักบุญที่โรม ทางนั้นก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเรื่องราวบุคคลดังกล่าวอย่างละเอียด เมื่อได้ประกาศว่าหลักฐานทั้งหมดเป็นความจริงแล้ว ขึ้นต่อไปก็คือการพิสูจน์ว่าชีวิตของบุคคลที่จะได้รับการสถาปนานั้น เป็นชีวิตคริสตชนขั้นร้อนรนจริงๆ คือดำเนินชีวิตด้วยการปฏิบัติความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์อย่างเที่ยงแท้จริง ไม่ใช่เพราะอย่างอื่น
เมื่อทุกอย่างดำเนินไปจนทุกฝ่ายพอใจแล้ว ก็จะมีการประกาศว่าบุคคลดังกล่าวเป็นคริสตชนตัวอย่าง ที่ควรแก่การเคารพยกย่องซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกที่จะต้องกระทำก่อนการประกาศเป็นบุญราศีหรือเซนต์ ก่อนที่จะได้รับประกาศเป็นบุญราศีนั้น พระศาสนจักรได้ตั้งเงื่อนไขว่า ต้องมีการพิสูจน์ได้ว่ามีอัศจรรย์อย่างน้อย 2 ประการเกิดขึ้น โดยอาศัยบุญบารมีของการประกาศว่าบุคคลดังกล่าวเป็นคริสตชนตัวอย่าง ซึ่งในการพิจารณารับรองอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นนั้น พระศาสนจักรก็จะพยายามทุกวิถีทางในการตรวจสอบว่าได้เกิดอัศจรรย์ขึ้น และอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นนั้น ก็ต้องเกิดโดยการวิงวอนของบุคคลที่เป็นคริสตชนตัวอย่างดังกล่าวก่อนจริงๆ หลังจากทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะนำเรื่องขึ้นกราบทูลสมเด็จพระสันตะปาปาเพื่อทรงรับรองอีกครั้ง และกำหนดวันสถาปนาคริสตชนตัวอย่างดังกล่าวขึ้นเป็น “บุญราศี”
แต่ก่อนที่จะได้รับประกาศเป็นนักบุญราศีนั้น ต้องมีการพิสูจน์ได้ว่า มีอัศจรรย์อย่างน้อย 2 ประการเกิดขึ้น โดยอาศัยบุญบารมีของ “คารวียะ” (ในกรณีของมรณสักขี หรือผู้ที่ยอมพลีชีพเพื่อศาสนา ความตายของเขา ก็ถือว่าเป็นอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ สามารถใช้แทนอัศจรรย์สองประการที่กำหนดนี้ได้)
การตั้งเป็นเซนต์(canonization)
หลังจากได้รับสถาปนาเป็นบุญราศีแล้ว ก่อนที่จะประกาศแต่งตั้งเป็น “เซนต์” จะต้องมีผู้ได้รับอัศจรรย์ โดยคำวิงวอนของท่านบุญราศีผู้นั้นอีก อย่างน้อย 2 ประการ ซึ่งการคอยอัศจรรย์ขั้นนี้ อาจจะยาวนานหลายปี บางรายกินเวลาเป็นศตวรรษก็มี
เมื่อผ่านขั้นตอนทุกอย่างแล้ว ก็จะมีพิธีการประกาศแต่งตั้งบุญราศีองค์นั้น ขึ้นเป็น “เซนต์” โดยพระสันตะปาปา ที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ กรุงโรม เป็นพิธีที่สง่างามน่าประทับใจที่สุดพิธีหนึ่ง ที่ทางพระศาสนจักรจัดขึ้น เพราะการประกาศ สถาปนาบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นเซนต์ย่อมหมายถึงเกียรติขั้นสูงสุด ที่คริสตชนคนหนึ่งพึงจะได้รับ โดยท่านผู้นั้น จะได้รับการประกาศ ชนิดที่พระศาสนจักรใช้เอกสิทธิ์ ความไม่รู้ผิดพลั้งของสมเด็จพระสันตะปาปา มาเป็นหลักประกันความจริง ท่านจะเป็นที่เคารพนับถือของชาวคาทอลิกทั่วโลก และชื่อของท่านผู้นั้น ก็จะได้รับการบันทึกไว้ ในบัญชีสารบบเซนต์ ตลอดไปชั่วกาลนาน
วิวัฒนาการการแต่งตั้งนักบุญเป็นมาอย่างไร
ตามที่กล่าวมาแล้วว่า เมื่อมีการขยายการเคารพนับถือผู้ศักดิ์สิทธิ์ จากบุคคลที่พลีชีพเพื่อศาสนาอย่างเดียว มาเป็นบุคคลที่ปฏิบัติคุณงามความดีตามพระธรรมคำสอนอย่างเคร่งครัดนั้น ก็ได้ทำให้ผู้ศักดิ์สิทธิ์มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 6-10 ประกอบกับสมัยนั้นยังไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอนเกี่ยวกับการแต่งตั้งใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญวิธี ที่ใช้ตัดสินก็คือ การดูจากจำนวนคนที่เคารพนับถือและศรัทธา จำนวนคนที่ไปเยี่ยมหลุมฝังศพและได้รับความช่วยเหลืออย่างอัศจรรย์ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการตัดสินแบบนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดข่าวลือหรือการโจษจันถึงความศักดิ์สิทธิ์ของคนนั้นคนนี้อยู่เสมอ ๆ
ดังนั้นทางพระศาสนจักรจึงได้คิดว่าน่าจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนขึ้นว่า บุคคลใดควรอยู่ในข่ายได้รับการยกย่อ งเทิดทูนอย่างแท้จริง จึงได้กฎเกณฑ์และระเบียบการแต่งตั้งผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญขึ้น ซึ่งก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆโดยในระยะแรก ๆ นั้นการจะอนุมัติให้เคารพคนนั้นคนนี้ในฐานะที่เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้นั้น ขึ้นอยู่กับพระสังฆราชหรือประมุขคริสตชนท้องถิ่นนั้นๆ แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 12 การอนุมัติเรื่องนี้ต้องขึ้นกับพระสันตะปาปาแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้เพื่อจะเป็นหลักประกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งเพื่อเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีแก่บุคคลผู้นั้นนั่นเอง
วิวัฒนาการของการดำเนินการประกาศแต่งตั้งผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญนับวันก็มีระเบียบกฎเกณฑ์ซับซ้อนขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1642 สมเด็จพระสันตะปาปาอูบาโนที่ 8 จึงได้ออกสมณกฤษฎีกาว่าด้วยกฎเกณฑ์ และวิธีการดำเนินการแต่งตั้งนักบุญขึ้น ชื่อว่า “Decreta servanda in canonizatione et beatificatione sanctorum” ต่อมาในสมัยของสมเด็จพระสัน ตะปาปาปีโอที่ 10 ก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม จนกระทั่งล่าสุด ในปี ค.ศ.1930 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 จึงได้ทรงโปรดให้มีการปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง
ปัจจุบันได้มีสมณกระทรวงว่าด้วยการประกาศแต่งตั้งนักบุญโดยเฉพาะ ซึ่งก็แยกส่วนออกมาจากสมณกระทรวงพิธีกรรมตั้งแต่ปี ค.ศ.1969 ทั้งนี้เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับคำร้องและพิธีการดำเนินการประกาศแต่งตั้งนักบุญทั่วพระศาสนจักรสากลโดยตรงนั่นเอง

อ้างอิงhttp://www.baanjomyut.com/library/christianity/08.html

ใส่ความเห็น