หน้าแรก » วิกฤตปัญหาช้างไทย

วิกฤตปัญหาช้างไทย

วิกฤตปัญหาช้างไทย
ปัญหาของช้างป่า คือจำนวนประชากรช้างป่าจะกระจายกันอยู่ตามผืนป่าอนุรักษ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าผืนเล็กๆไม่ต่อเนื่องกัน ทำให้ช้างตกอยู่ในสภาพคล้ายติดเกาะ ไม่สามารถข้ามไปมาระหว่างพื้นที่ได้ ส่งผลให้เกิดการผสมพันธุ์ภายในหมู่เครือญาติ (Inbreeding) ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดลักษณะด้อย เกิดโรคทางพันธุกรรม นำไปสู่การเสียชีวิตและการสูญพันธุ์ในที่สุด

1. ปัญหาพื้นที่ป่าถูกทำลาย
1.1 การทำลายป่าไม้เพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรม การที่รัฐบาลส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรเพื่อส่งออก เป็นปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้เกิดการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เผาป่า เพื่อความต้องการพื้นที่สำหรับใช้เพาะปลูก
1.2 การเลี้ยงสัตว์ในเขตพื้นที่ป่า การปศุสัตว์ในปัจจุบันนอกจากจะมีการเลี้ยงสัตว์เป็นระบบฟาร์มซึ่งมีระบบการจัดการเป็นอย่างดีแล้ว การเลี้ยงสัตว์แบบดั้งเดิมก็ยังคงมีอยู่ คือ การเลี้ยงโดยปล่อยให้สัตว์เข้าไปหากินเองในป่า ซึ่งอาจเข้าไปแย่งหรือทำลายอาหารของสัตว์ป่า และอาจติดโรคจากสัตว์ป่าหรืออาจนำโรคติดต่อไปสู่สัตว์ป่าด้วย
1.3 ไฟป่า ปัจจุบันการเกิดไฟป่าล้วนเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เป็นการทำลายพืชอาหารของช้างป่า
1.4 โครงการพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่ป่า โครงการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการในพื้นที่ป่าย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของป่า และสัตว์ป่า เช่น การสร้างเขื่อนซึ่งเป็นการแยกป่าธรรมชาติออกจากกัน การตัดถนนผ่านป่าก็เช่นกันแล้วยังเป็นการทำให้มนุษย์เข้าไปรบกวนสัตว์ป่าได้ง่ายขึ้นด้วย
2. ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและช้าง
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างเกิดขึ้นมานานนับตั้งแต่คนเข้าไปในพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหากินของช้าง เกิดปัญหารุนแรงถึงขั้นต้องฆ่าช้าง และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้น ประเด็นของการเกิดข้อขัดแย้ง คือ ปัญหาการแย่งใช้พื้นที่ราบริมแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และแหล่งหลบภัยที่สำคัญของช้าง ในฤดูฝนที่ยังมีอาหารสมบูรณ์ ช้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่เมื่อถึงฤดูแล้งอาหารและน้ำขาดแคลน ช้างจึงต้องเข้ามาหากินผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่เกษตรกรรมของมนุษย์ ปัญหานี้ได้เกิดกับหลายประเทศ ซึ่งมีการลดปัญหาลงได้บ้าง ในประเทศไทยยังมีพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้งค่อนข้างรุนแรง 7 พื้นที่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ อุทยานแห่งชาติทับลาน-ปางสีดา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
3. ปัญหาด้านการขยายพันธุ์
3.1 อัตราส่วนระหว่างช้างเพศผู้และเพศเมียในวัยเจริญพันธุ์ไม่เหมาะสม การล่าช้างเพศผู้เพื่อเอางา ทำให้ช้างมีงาที่ควรจะเป็นพ่อพันธุ์ลดลง ส่งผลให้พันธุกรรมของช้างงาลดลง เกิดการจำกัดความหลากหลายทางพันธุกรรม
3.2 การผสมเลือดชิด (Inbreeding) การที่ช้างอยู่ในพื้นที่ที่มีถนนหรือสิ่งกีดขวางใดๆที่ทำให้ช้างไม่สามารถเดินทางติดต่อระหว่างพื้นที่หากินต่างๆ คล้ายกับการติดเกาะ ทำให้ช้างเกิดการผสมพันธุ์กันภายในประชากรเดียวกันและอาจเกิดการผสมพันธุ์ในหมู่เครือญาติ เกิดการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด โอกาสเกิดลักษณะด้อยสูง ช้างมีความไม่สมบูรณ์หรือเป็นพาหะของโรคทางพันธุกรรมต่างๆสูงขึ้น
4. ปัญหาการล่าช้าง

4.1 การจับลูกช้างป่า มักดำเนินการโดยชาวกูยหรือชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยในพื้นที่แนวชายแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นแหล่งที่มีช้างป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันนิยมจับลูกช้างป่ามาขาย เพราะสามารถจับได้ไม่ยากนักและขนส่งได้ค่อนข้างสะดวก อีกทั้งตลาดการค้าช้างต้องการลูกช้างมากกว่าช้างวัยรุ่น บริเวณที่มีการจับลูกช้างมาขาย ได้แก่ พื้นที่แถบชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ลงไป อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.เมือง จ.ระนอง และแถบชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ผู้รับซื้อส่วนมากคือกลุ่มฝึกช้างจาก ต.บ้านค่าย อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เพื่อนำไปฝึกแสดงละครช้างเร่ หรือแสดงตามปางช้างเอกชน โรงแรม และรีสอร์ท การนำลูกช้างออกจากป่านั้นจำเป็นต้องฆ่าแม่ช้างก่อน เพราะแม่ข้างจะหวงลูกมากและลูกช้างจะอยู่กับแม่ตลอดเวลา ลูกช้างที่ยังไม่หย่านม ในช่วงอายุ 8 เดือน-2 ปี จะมีปัญหาทางสุขภาพ เช่น ท้องเสีย กระดูกบาง และต้องตายในที่สุด
4.2 การล่าช้างเอางา การค้างาช้างในประเทศไทยมีมานานนับเป็นพันปี งาช้างส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้แกะสลักเพื่อเป็นเครื่องประดับ และเครื่องบูชาที่มีมูลค่าสูง แหล่งแกะสลักงาช้างที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยคือ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ และกรุงเทพฯ ลูกค้าที่นิยมซื้องาช้างมักเป็นนักท่องเที่ยวจากเอเซียตะวันออก เช่น จีน ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวัน และญี่ปุ่น เป็นต้น
4.3 การล่าช้างเพื่อเอาอวัยวะอื่นๆ การล่าช้างเพื่อเอาอวัยวะ เช่น งวง หาง และอวัยวะเพศของช้างตัวผู้ เป็นผลพลอยได้จากการล่าช้างเอางาหรือลูกช้างเท่านั้น

5. ปัญหาด้านขาดการจัดการ
5.1การขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องช้างโดยตรง ทำให้ไม่มีการจัดการที่มีระบบระเบียบแบบแผนที่เหมาะสม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับช้างป่าในปัจจุบันคือ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีภาระหน้าที่มากมายหลายด้าน ทำให้การจัดการช้างป่าในปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอ
5.2 การขาดแคลนบุคลากร การมีบุคลากรไม่เพียงพอทำให้การดำเนินงานไม่มีประสิทธิผลเพียงพอ เช่น การขาดแคลนนักวิจัย ทำให้ขาดข้อมูลพื้นฐานและความรู้ที่ทันสมัย ทำให้ขาดข้อมูลที่จะนำไปใช้งานได้ การขาดแคลานเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ทำให้การดูแลป้องกันพื้นที่เป็นไปอย่างจำกัด
5.3 การขาดแคลนงบประมาณ การขาดแคลนงบประมาณในการดำเนินงานทำให้กาดำเนินการต่างๆเป็นไปอย่างจำกัดและไม่ต่อเนื่อง เช่น การตรวจจับผู้ลักลอบกระทำผิดในการล่าช้าง บุกรุกพื้นที่ป่า และการขาดงบประมาณในการวิจัยก็ทำให้ไม่ได้ข้อมูลที่จำเป็นด้วย
5.4 การขาดแผนแม่บทในการจัดการช้างป่า เนื่องมาจากการขาดแคลนบุคลากรและงบประมาณ ทำให้ขาดข้อมูลด้านปัญหา และข้อมูลที่ทันสมัย รวมถึงแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ที่เพียงพอในการจัดทำแผนแม่บท ส่งผลให้การดำเนินงานเกี่ยวกับช้างป่าขาดทิศทางที่แน่นอน มีเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และบางครั้งเกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน
5.5 การขาดการประชาสัมพันธ์ให้เห็นคุณค่าของช้างป่า การประชาสัมพันธ์จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ ปัญหาของช้างป่า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์จากสาธารณชนอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ
ปัญหาของช้างเลี้ยง
1.ปัญหาด้านการผสมพันธุ์
1.1 ช้างไม่มีโอกาสจับคู่ผสมพันธุ์ สภาพการเลี้ยงช้างในปัจจุบัน ควาญมักเลี้ยงช้างของตนแยกจากช้างตัวอื่นๆ เพื่อลดปัญหาการแย่งอาหาร และการต่อสู้ระหว่างช้าง บางพื้นที่นิยมเลี้ยงเฉพาะช้างเพศเมียเนื่องจากมีปัญหาการตกมันน้อย หรือการใช้ช้างทำงานตลอดวัน ทำให้ช้างไม่มีโอกาสในการจับคู่ผสมพันธุ์ และระหว่างที่ช้างจับคู่ผสมพันธุ์จะไม่ยอมทำงานและไม่ยอมให้ควาญเข้าใกล้ อีกทั้งยังอาจทำร้ายควาญด้วย หากช้างเพศเมียตั้งท้องก็จะไม่ทำงานทำให้ควาญเสียรายได้ และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลช้างและลูกช้างอีกด้วย ดังนั้นควาญจึงมักไม่ยินยอมให้ช้างจับคู่ผสมพันธุ์
1.2 สุขภาพช้างไม่สมบูรณ์ การเลี้ยงดูช้างไม่ดี ให้ช้างทำงานหนักและไม่ได้รับอาหารอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันการตกมัน ทำให้ช้างมีสุขภาพไม่แข็งแรง ความสามารถในการสืบพันธุ์ก็จะลดลง
1.3 ค่าใช้จ่ายในการผสมพันธุ์ การผสมพันธุ์ช้างเลี้ยงเจ้าของช้างต้องเสียค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างช้างต่างเพศมาผสมพันธุ์ โดยไม่มีการรับรองผลว่าจะผสมพันธุ์ติดหรือไม่ หากผสมพันธุ์ไม่ติดก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างใหม่อีกครั้ง ซึ่งเจ้าของช้างมักไม่ยินยอมเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้
1.4 ความสามารถในการผสมพันธุ์ของช้างเพศผู้มีน้อย ในธรรมชาติสมาชิกของช้างในโขลงจะประกอบด้วยช้างเพศเมียที่มีอายุต่างกัน และลูกช้างในวัยแรกเกิดไปจนถึงก่อนวัยรุ่น เมื่อลูกช้างเข้าสู่วัยรุ่นจะแสดงพฤติกรรมทางเพศต่อช้างตัวอื่น ช้างเพศเมียในโขลงจะขับไล่ช้างเพศผู้ออกไปจากโขลง เป็นกลไกในการป้องกันการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด ช้างที่ถูกขับไล่อาจจะรวมโขลงกับช้างเพศผู้ตัวอื่นๆเกิดการเรียนรู้พฤติกรรมต่างๆ แต่ปัจจุบันความญมักเลี้ยงช้างแยกจากกันทำให้ขาดการถ่ายทอดพฤติกรรมด้านต่างๆ ช้างเพศผู้วันรุ่นหลายเชือกจึงแสดงพฤติกรรมการผสมพันธุ์ไม่เป็น
1.5 การตายของลูกช้างแรกคลอด ในธรรมชาติแม่ช้างจะมีช้างแม่รับ ซึ่งเป็นช้างเพศเมียในโขลงที่มีความคุ้นเคยกับแม่ช้าง และมักมีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกมาแล้ว คอยช่วยขณะคลอดและช่วยเลี้ยงลูกช้าง แต่ช้างเลี้ยงใกล้คลอดมักถูกนำมาไว้ใกล้บ้านมนุษย์ ส่งผลให้ช้างเกิดความเครียด อาจทำให้แม่ช้างทำร้ายลูกช้าง เลี้ยงลูกไม่เป็น หรืออาจมีการผลิตน้ำนมน้อยลง ลูกช้างจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เกิดปัญหาต่อสุขภาพของลูกช้าง เช่น ท้องร่วง และกระดูกบาง เป็นต้น บางตัวอาจถึงกับเสียชีวิต
2. ปัญหาการใช้งานช้างเลี้ยงอย่างไม่เหมาะสม
2.1 การใช้ช้างประกอบธุรกิจทำไม้ผิดกฎหมาย ช้างที่ถูกนำมาใช้ในธุรกิจที่ผิดกฎหมายนี้มักพบปัญหาต่างๆ ดังนี้

– ช้างถูกทารุณกรรม เช่น การบังคับให้ทำงานหนัก การใช้ไฟเผาก้นช้างเพื่อกระตุ้นให้ช้างลากซุง การลงโทษช้างอย่างรุนแรง ช้างเหล่านี้ไม่ได้รับการพักผ่อน สุขภาพทรุดโทรม มีบาดแผลติดเชื้อ บางเชือกอาจมีปัญหาที่ตา น้ำตาไหลมาก หรือตาบอด
– การให้ช้างกินยาแอมเฟตามีน หรือยาบ้า โดยการผสมในอาหารของช้าง เพื่อให้ช้างทำงานได้มากขึ้น เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ช้างก็เกิดอาการติดยา เมื่อไม่ได้รับยาจะมีอาการอาเจียน เบื่ออาหาร ง่วงซึม ไม่มีแรง และเกิดปัญหาที่ตับและไต ทำให้ช้างเสียชีวิตในที่สุด
– การใช้ช้างตกมัน หรือช้างดุร้ายที่เคยฆ่าคนทำงาน เนื่องจากช้างตกมันจะมีกำลังมากกว่าปกติ ส่วนช้างที่เคยฆ่าคน ควาญช้างมักหนีการจับกุม หรือถูกช้างฆ่าตายไปแล้ว ราคาจะถูก ช้างกลุ่มนี้อาจฆ่าคนได้อีก ซึ่งมักใช้การแก้ปัญหาโดยการยิงทิ้ง
2.2 การใช้ช้างเดินเร่ร่อนในเมืองใหญ่ จากการปิดชายแดนไทย-กัมพูชา รายได้ของชาวกูยลดลง ประกอบกับภาวะการว่างงานในฤดูแล้ง แต่ยังมีภาระในการเลี้ยงดูช้างและครอบครัว จึงเริ่มมีการนำช้างเดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อให้บริการลอดท้องช้าง ขายอาหารช้าง และรับบริจาคจากบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ทางกรุงเทพมหานครประกาศห้ามมิให้ช้างเหล่านี้เดินหารายได้ในเขตกรุงเทพฯ โดยการบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน คือ ปรับไม่เกิน 500 บาท กลุ่มช้างเร่ร่อนจึงพากันเปลี่ยนไปหากินในพื้นที่ปริมณฑลรอบๆกรุงเทพฯและตามจังหวัดต่างๆ ทำให้เกิดปัญหากับช้าง คือ
– อุบัติเหตุ ช้างถูกรถชน เนื่องจากผู้ขับขี่ยานพาหนะมองไม่เห็นช้างที่มักสัญจรบนท้องถนนในช่วงเวลากลางคืน หรือช้างตกท่อ เนื่องจากฝาท่อรับน้ำหนักของช้างไม่ไหว
– ช้างถูกทารุณกรรม เช่น การบังคับให้ทำงานหนัก การใช้ไฟเผาก้นช้างเพื่อกระตุ้นให้ช้างลากซุง การลงโทษช้างอย่างรุนแรง ช้างเหล่านี้ไม่ได้รับการพักผ่อน สุขภาพทรุดโทรม มีบาดแผลติดเชื้อ บางเชือกอาจมีปัญหาที่ตา น้ำตาไหลมาก หรือตาบอด
– การให้ช้างกินยาแอมเฟตามีน หรือยาบ้า โดยการผสมในอาหารของช้าง เพื่อให้ช้างทำงานได้มากขึ้น เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ช้างก็เกิดอาการติดยา เมื่อไม่ได้รับยาจะมีอาการอาเจียน เบื่ออาหาร ง่วงซึม ไม่มีแรง และเกิดปัญหาที่ตับและไต ทำให้ช้างเสียชีวิตในที่สุด
– การใช้ช้างตกมัน หรือช้างดุร้ายที่เคยฆ่าคนทำงาน เนื่องจากช้างตกมันจะมีกำลังมากกว่าปกติ ส่วนช้างที่เคยฆ่าคน ควาญช้างมักหนีการจับกุม หรือถูกช้างฆ่าตายไปแล้ว ราคาจะถูก ช้างกลุ่มนี้อาจฆ่าคนได้อีก ซึ่งมักใช้การแก้ปัญหาโดยการยิงทิ้ง
2.2 การใช้ช้างเดินเร่ร่อนในเมืองใหญ่ จากการปิดชายแดนไทย-กัมพูชา รายได้ของชาวกูยลดลง ประกอบกับภาวะการว่างงานในฤดูแล้ง แต่ยังมีภาระในการเลี้ยงดูช้างและครอบครัว จึงเริ่มมีการนำช้างเดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อให้บริการลอดท้องช้าง ขายอาหารช้าง และรับบริจาคจากบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ทางกรุงเทพมหานครประกาศห้ามมิให้ช้างเหล่านี้เดินหารายได้ในเขตกรุงเทพฯ โดยการบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน คือ ปรับไม่เกิน 500 บาท กลุ่มช้างเร่ร่อนจึงพากันเปลี่ยนไปหากินในพื้นที่ปริมณฑลรอบๆกรุงเทพฯและตามจังหวัดต่างๆ ทำให้เกิดปัญหากับช้าง คือ
– อุบัติเหตุ ช้างถูกรถชน เนื่องจากผู้ขับขี่ยานพาหนะมองไม่เห็นช้างที่มักสัญจรบนท้องถนนในช่วงเวลากลางคืน หรือช้างตกท่อ เนื่องจากฝาท่อรับน้ำหนักของช้างไม่ไหว

– มลพิษในเมือง มลพิษจากฝุ่นโลหะหนักในอากาศ อาจเกิดความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจของช้าง แสงจ้าและฝุ่นที่อบอวลอาจระคายเคืองตาซึ่งอาจเกิดแผลที่กระจกตา เกิดอาการติดเชื้อจนทำให้ช้างตาบอดได้ ส่วนมลพิษทางเสียงอาจทำให้ช้างตกใจวิ่งเตลิดไป ทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าช้างตกมันและต้องจบชีวิตลงด้วยการวิสามัญฆาตกรรม
– คุณภาพอาหาร อาหารที่ให้ช้างอาจเน่า หรือมีสารพิษปนเปื้อน เช่นยาฆ่าแมลง ทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหารของช้าง
– พฤติกรรมของมนุษย์ บางครั้งการแสดงออกโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจเกิดผลเสีย เช่น การเข้าไปทางด้านหลังของช้าง การยื่นอาหารแบบหลอกล่อ อาจนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตมนุษย์ได้
2.3 การใช้ช้างแสดงละครเร่ ปัญหาที่พบคือการลักลอบล่าช้างป่าเพื่อนำลูกช้างมาฝึกแสดง ลูกช้างมักมีอายุน้อยและยังไม่หย่านม อาจเสียชีวิตระหว่างการขนส่ง

– การฝึกลูกช้างในท่าฝืนธรรมชาติ เช่น หกสูง การไต่บนสะพานไม้แผ่นเดียว การยืนบนถัง ช้างอาจได้รับบาดเจ็บหรือพิการ หรือเสียชีวิตระหว่างการฝึก นอกจากนี้ช้างที่ผ่านการฝึกอย่างทารุณเมื่อโตขึ้นมักจะเป็นช้างที่ก้าวร้าว

3. การส่งช้างออกนอกประเทศ
การส่งช้างออกนอกประเทศส่วนใหญ่ให้เหตุผลเพื่อการเจริญสัมพันธไมตรีต่อมิตรประเทศ ระหว่างประมุขของประเทศ ระหว่างรัฐบาล หรือระหว่างสวนสัตว์ ซึ่งจำนวนช้างที่ส่งออกไปเพื่อภารกิจดังกล่าวแม้มีจำนวนน้อยมาก แต่ข้อที่น่าสังเกตและควรให้ความสำคัญ คือ ช้างที่ถูกส่งออกไปนอกประเทศล้วนแล้วแต่เป็นช้างที่มีลักษณะดี ทั้งร่างกายและอุปนิสัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการลดประชากรช้างที่มีลักษณะทางพันธุกรรมที่ดีด้วยเช่นกัน
4. ปัญหาอื่นๆ
ปัจจุบันการจัดการช้างบ้านยังขาดแคลนบุคลากร และงบประมาณ ทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาคือการขาดข้อมูลพื้นฐาน สำหรับวางแผนงานการจัดทำแผนแม่บท และการประชาสัมพันธ์ให้เห็นความสำคัญของช้าง

อ้างอิง http://pirun.ku.ac.th/~b521030266/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%95.html

ใส่ความเห็น