ขาและข้อเท้า

ขาของช้างมีรูปร่างค่อนข้างคล้ายกับเสา เนื่องจากขาของมันต้องรองรับร่างกายอันใหญ่โต ช้างใช้พลังงานกล้ามเนื้อในการยืนน้อยเนื่องจากขาของมันตั้งตรงและฝ่าเท้ามีขนาดใหญ่ ด้วยเหตุผลนี้เอง ช้างจึงสามารถยืนได้เป็นเวลานานโดยไม่รู้สึกเหนื่อย อันที่จริงแล้ว ช้างแอฟริกาจะนอนลงกับพื้นน้อยครั้งมาก เฉพาะตอนที่มันป่วยหรือได้รับบาดเจ็บเท่านั้น ตรงกันข้ามกับช้างอินเดียที่นอนลงกับพื้นบ่อยครั้งกว่า

เท้าของช้างมีรูปร่างเกือบกลม เท้าหลังแต่ละข้างของช้างแอฟริกามี 3 เล็บ และเท้าหน้าแต่ละข้างมี 4 เล็บ ส่วนเท้าหลังแต่ละข้างของช้างอินเดียนั้นมี 4 เล็บ และเท้าหน้าแต่ละข้างมี 5 เล็บ ใต้กระดูกของเท้านั้นเป็นวัสดุแข็งคล้ายวุ้นซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องกันกระแทก ช้างสามารถว่ายน้ำได้ แต่ไม่สามารถวิ่งเหยาะ ๆ กระโดด หรือวิ่งห้อได้ ช้างมีท่าเดินอยู่สองท่า คือ ท่าเดินและท่าที่เร็วกว่าซึ่งคล้ายกับการวิ่ง

ในการเดิน ขาของช้างจะทำหน้าที่เหมือนกับตุ้มน้ำหนัก โดยมีสะโพกและไหล่ขยับขึ้นลงขณะที่วางเท้าบนพื้น ท่าเดินเร็วของช้างนั้นไม่ได้เข้าข่ายการวิ่งทั้งหมด เพราะช้างจะไว้เท้าข้างหนึ่งไว้บนพื้นเสมอ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วของช้างนั้นใช้ขาคล้ายกับสัตว์อื่นที่กำลังวิ่งมากกว่า โดยใช้สะโพกและไหล่ยกขึ้นและลงขณะที่เท้าวางอยู่บนพื้น ในการเดินท่านี้ ช้างจะยกเท้าสามข้างขึ้นจากพื้นในเวลาเดียวกัน และเมื่อเท้าหลังทั้งสองข้างและเท้าหน้าทั้งสองข้างอยู่เหนือพื้นดินในขณะเดียวกันแล้ว ท่าเดินนี้จะมีลักษณะคล้ายกับที่เท้าหน้าและเท้าหลังผลัดกันวิ่ง การทดสอบที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยมีรายงานว่า การเคลื่อนไหวเร็วของช้างนั้นจะ “วิ่ง” โดยใช้เท้าหน้า และจะ “เดิน” โดยใช้เท้าหลัง

แม้ว่าช้างจะเริ่ม “วิ่ง” ด้วยท่าเดินนี้ด้วยอัตราเร็ว 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่มีรายงานว่าช้างสามารถเพิ่มความเร็วจนแตะระดับ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ โดยไม่เปลี่ยนท่าในกาารเดิน จากการทดสอบที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ช้างที่เดินเร็วที่สุดนั้นทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ความเร็วระดับนี้ สัตว์สี่เท้าอื่นส่วนใหญ่แล้วจะเปลี่ยนท่าเป็นท่าวิ่งห้อแล้ว แม้ว่าจะคิดความยาวของขาแล้วก็ตาม การเคลื่อนไหวคล้ายสปริงสามารถอธิบายความแตกต่างระหว่างการเคลื่อนไหวของช้างกับสัตว์อื่น ๆ ได้

อ้างอิง

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87

ใส่ความเห็น